“เด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
เด็กเอ๋ยเด็กดีต้องมีหน้าที่สิบอย่างด้วยกัน
หนึ่งนับถือศาสนา
สองรักษาธรรมเนียมมั่น
สามเชื่อพ่อแม่ครูอาจารย์
สี่วาจานั้นต้องสุภาพอ่อนหวาน
ห้ายึดมั่นกตัญญู
หกเป็นผู้รู้รักการงาน
เจ็ดต้องศึกษาให้เชี่ยวชาญ ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจไม่คร้าน
แปดรู้จักออมประหยัด
เก้าต้องซื่อสัตย์ตลอดกาล
น้ำใจนักกีฬากล้าหาญ ให้เหมาะกับงานสมัยชาติพัฒนา …”
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วเมื่อเข้าโรงเรียนมัธยมต้น โรงเรียนเปิดเพลงนี้ทุกวันก่อนเคารพธงชาติตอนเช้า ถึงทุกวันนี้จะล่วงเลย “สมัยชาติพัฒนา” มาเนิ่นนานแล้ว แต่ถ้าให้รำลึกความหลัง ก็ยังจำบทเพลงนี้ได้
มาถึงวันนี้ ค่านิยมบางข้อในอาขยานนี้อาจฟังดูล้าสมัยสุดๆสำหรับคน Gen ใหม่ๆ แต่ก็เชื่อว่ามีอีกหลายข้อที่ไม่ว่ายุคไหนสมัยไหนก็ไม่ตกยุค
ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่อง “ต้องมานะบากบั่น ไม่เกียจไม่คร้าน” ทุกวันนี้คำไทยอย่างนี้อาจฟังดูเชย แต่ถ้าใช้คำว่า “Achievement Motivation” “การมุ่งผลสัมฤทธิ์” ฯลฯ ก็จะเข้าสมัยนิยมขึ้นมาทันที
ถามว่าแล้วใจความในบทเพลงนี้มีความหมายต่อตนเองหรือไม่ อย่างหนึ่งที่ตอบได้คือ ใช้พิจารณาตัวเอง เทียบกับหัวข้อในเพลงทั้ง 10 ประการนี่แหละว่าข้อไหนปฏิบัติได้ ปฏิบัติไม่ได้ ปฏิบัติได้ดี หรือปฏิบัติได้แต่ยังไม่ดีอย่างไรบ้าง
นี่คือประโยชน์ของอาขยานและบทเพลงนี้
จากประสบการณ์นานปีในการทำหน้าที่เป็น “ที่ปรึกษา” ( Consultant หรือที่เรียกกันย่อๆว่า “Consult”) ให้แก่องค์กรต่างๆ นั้น การสร้างค่านิยมใดๆ วัตถุประสงค์เบื้องแรก คงไม่พ้นคำถามที่ว่า ทำอย่างไรจะให้คนจำได้ เพราะถ้าจำไม่ได้ จะให้ปฏิบัติได้อย่างไร
อาขยานจะถูกฉันทลักษณ์ เสนาะเพราะพริ้งหรือไม่อย่างไรก็ตาม แต่หัวใจสำคัญในขั้นนี้คือ ทำอย่างไรก็ได้ ให้คนจำได้
ด่านถัดไปหลังจากจำได้แล้ว คือ ทำอย่างไรจะประพฤติปฏิบัติ
การที่คนเราจะอยากลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ ล้วนแต่ต้องมีเหตุ เหตุที่สำคัญคือ เห็นประโยชน์ และ อยากเป็นอย่างนั้นบ้าง
ในงานปรับเปลี่ยนทั้งหลาย ไม่ว่าจะเปลี่ยนวิธีทำงานใหม่ ปลูกฝังค่านิยมใหม่ สร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ฯลฯ อันที่จริงมีคนจำนวนไม่น้อยเห็นประโยชน์
แต่ก็แค่ “เห็นประโยชน์” ไม่ได้ “อยากเป็น” มากจนลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนตัวเอง
การ “เห็น” เกิดขึ้นได้ง่ายกว่า เพราะความเห็นเกิดที่สมอง ที่ความคิด ส่วนการ “อยากเป็น” เกิดยากกว่า ต้องอาศัยพลังที่เกิดจากใจ
เมื่อสามารถปลูกฝังจนทั้ง “เห็นประโยชน์” และ “อยากเป็น” ได้แล้ว ด่านต่อไปก็คือ ทำอย่างไรพฤติกรรมจะยั่งยืน ด่านนี้ก็ยิ่งต้องใช้ใจ
“ด่าน” ที่ต้องใช้ใจ ล้วนยากกว่า “ด่าน” ที่ใช้สมอง
บางเรื่องเป็นเรื่องของสมอง ชี้แจงชักจูงจนเข้าใจ ก็ได้ใจ
บางเรื่องเป็นเรื่องของใจ ชี้แจงชักจูงแล้วเข้าใจ แต่ยังไม่ได้ใจ
หากยังไม่ได้ใจ ก็อย่าเพิ่งถอดใจ
หากยังไม่ถอดใจ หาวิธีต่อไป ก็อาจจะพบทางให้ได้ใจ
อีกทั้งสิ่งดีๆที่ได้ลงทุนลงแรงมาแต่ต้น ก็ใช่ว่าจะสูญเปล่า เพราะอย่างน้อย ก็ได้ปลูกฝังจน “เห็นประโยชน์” ดีกว่าปล่อยไปตามยถากรรม ไม่ทำอะไรเลย
ฉะนั้น จึงขอส่งกำลังใจมายังผู้ที่ตั้งใจและยังไม่ถอดใจทั้งหลาย ขอให้ประสบความสำเร็จด้วยใจในไม่ช้าก็เร็ว
Pingback: อาขยาน กับ การสร้าง “ค่านิยม” | Signature Solutions' Insights